วันอาทิตย์, 12 พฤษภาคม 2567

ปากแหว่ง เพดานโหว่ ความผิดปกติบนใบหน้าที่รักษาได้

21 ม.ค. 2024
101

KCMH – Chulalongkornhospital

ปากแหว่ง (Cleft Lip) คือ ภาวะที่ริมฝีปากบนแยกตัวออกจากกัน อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของริมฝีปาก 

เพดานโหว่ (Cleft Palate) คือ ภาวะที่มีเพดานปากแยกจากกัน โดยอาจแยกตลอดแนวของเพดานปาก หรือแยกเฉพาะเพดานอ่อน รวมไปถึงบางส่วนของเพดานแข็ง

ในประเทศไทย พบเด็กแรกเกิดที่มีปากแหว่ง หรือปากแหว่งร่วมกับเพดานโหว่ ประมาณ 1.4 ถึง 2.1 คนต่อเด็กแรกเกิด 1,000 คน 

ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมและปัจจัยทางพันธุกรรม ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การให้มารดารับประทานกรดโฟลิก (Folic Acid) วันละ 400 ไมโครกรัม ในช่วงตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึง 3 เดือนแรก สามารถช่วยลดการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ได้

การรักษาก่อนการผ่าตัด เช่น Lip taping, Nasoalveolar molding (NAM)

การผ่าตัดแก้ไขปากแหว่งและเพดานโหว่

การผ่าตัดจะดำเนินการในห้องผ่าตัด และใช้วิธีดมยาสลบ

–  การผ่าตัดแก้ไขภาวะปากแหว่ง มักทำเมื่อทารกอายุราว 3 เดือนหรือมีสุขภาพแข็งแรง 
–  การผ่าตัดแก้ไขเพดานโหว่ มักทำช่วงอายุ 9 ถึง 18 เดือน

ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาและเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องจากสหสาขาวิชาชีพ และอาจได้รับการแนะนำให้ผ่าตัดเพิ่ม เช่น ผ่าตัดปิดร่องที่เหงือก ผ่าตัดให้พูดชัดขึ้น ผ่าตัดตกแต่งจมูก หรือผ่าตัดกราม เป็นต้น

ข้อมูลโดย อ.พญ.ชุติมา จิรภิญโญ
ศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จุฬาลงกรณ์
ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2567

ที่มา: KCMH – Chulalongkornhospital